Wednesday, December 31, 2008

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ(ตอนที่ 1)

พศิน แตงจวง 2548

1. ความนำ

“…..การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ การสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล
เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิต อยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตนเพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ
ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่าย ทุกระดับควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ……….”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
27 พฤศจิกายน 2515

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ การสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด ทักษะพร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลที่เกิดขึ้นมาลืมตาดูโลกให้สามารถใช้ความรู้ ทักษะเพื่อประกอบอาชีพ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตนเองและส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ตามฐานะครอบครัว สติปัญญาและตามโอกาส ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่าย ทุกระดับควรมุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น
งานการศึกษานอกระบบแม้ว่าจะได้เริ่มอย่างไม่เป็นทางการมานานก่อนมีการศึกษาในระบบ กล่าวคือ นับตั้งแต่สมัย Socrates หรือ Jesus(พระเยซูคริสต์) หรือพระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน หรือเมื่อมนุษย์มีการพูดคุย สนทนา สั่งสอน อย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการบังคับ เป็นการเรียนรู้ตามสภาพบริบทเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้หรือเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ส่วนงานการศึกษานอกระบบอย่างเป็นทางการของโลกอาจกล่าวได้ว่าเริ่มเมื่อราวปี ค.ศ. 1727 เมื่อ Benjamin Franklin ก่อตั้ง Junto ขึ้นมาเพื่อเป็นสโมสรแลกเปลี่ยน อภิปราย ในประเด็นที่เกี่ยวกับคุณธรรม การเมืองและปรัชญากันทุกสัปดาห์ จากนั้นงานการศึกษานอกระบบก็ได้พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ (Schroeder, 1970: 26; Hiemstra, nd.)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา คำที่ใช้อย่างเป็นทางการคือ “การศึกษาผู้ใหญ่(Adult Education)” ควบคู่กับการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) ซึ่งก็มีพัฒนาการมานานโดยเริ่มมาจากจุดเดียวกับที่กล่าวข้างต้นและมีกิจกรรมเข้มข้นขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองและสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น มี โรงเรียนทางไปรษณีย์ (Correspondence schools) ระบบการศึกษาต่อเนื่องในมหาวิทยาลัย (university extension systems) วิทยาลัยเพื่อพัฒนาแรงงาน (residential labor colleges) องค์กรบริการสังคม (social service agencies) และสมาคมอาสาสมัครจำนวนมาก(voluntary associations) จนกระทั่งต่อมาในปี ค.ศ. 1920 สหรัฐอเมริกาจึงได้ก่อตั้ง Department of Immigrant Education of National Education Association ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1924 ได้เปลี่ยนเป็น Department of Adult Education(Schroeder, 1970: 26-27) และแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาต่อไปเพื่อสนองกลุ่มเป้าหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเป้าหมายและบริบท
สำหรับงานการศึกษานอกระบบในประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการก็เช่นเดียวกันที่เริ่มมานาน เช่นการเรียนวิชาคาถาอาคม เรียนการต่อสู้ เรียนอาชีพต่าง ๆ หรือแม้เมื่อจะบวชเป็นพระก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ภาษาบาลีที่ใช้สำหรับอ่านบทสวดมนต์ต่าง ๆ ก่อน การเรียนรู้วิชาอาชีพจากบรรพบุรุษเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ก็นับได้ว่าเกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ
ส่วนการศึกษานอกระบบที่เริ่มอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ในนามของ “การศึกษาผู้ใหญ่” มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่และขาดโอกาสเรียนหนังสือได้เรียนรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นเพื่อจะได้มีความรู้เท่าทันคนและเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ต่อมาได้ขยายบริการกลุ่มคนที่อยู่นอกโรงเรียนทั้งก่อนและหลังวัยเรียนด้วย จนได้รับการยกฐานะเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียนเมื่อ 24 มีนาคม 2522 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้คล่องตัวขึ้น(ทวีป อภิสิทธิ์ 2541: 15) แต่ก็ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมด (ทองอยู่ แก้วไทรฮะ 2544: 4) กล่าวคือ สามารถดำเนินงานได้ผลในเชิงปริมาณที่สามารถยกระดับการศึกษาของประชาชน แต่หากเปรียบเทียบกับนานาประเทศพบว่า ผลการจัดการศึกษาของไทยยังต่ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (2541: 16) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น กล่าวว่าในปี 2537 เด็กไทยอายุ 6-11 ปีมีจำนวน 400,000 คนที่ไม่ได้เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับเนื่องจากเป็นผู้ขาดโอกาส อยู่ในหลืบของสังคมโดยเฉพาะในสังคมที่กวดขันการแต่งกาย การใช้ภาษาและความพร้อม จะปรากฏว่ามีปริมาณคนขาดโอกาสจำนวนมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยมักมุ่งเน้นที่รูปแบบ(Forms) นักเรียนจึงถูกจ้องระวังเรื่องการแต่งกายให้ถูกต้องซึ่งแนวคิดนี้ส่วนใหญ่ลอกเลียนแบบหรือทำตามคำสั่งจากระดับสูงซึ่งมักหาความหมายหรือหาความสัมพันธ์กับเนื้อหาวิชาการไม่ได้ กล่าวคือ ในตอนเช้านักเรียนจะถูกบังคับให้เข้าแถวเพื่อตรวจว่าแต่งกายเรียบร้อย ถูกต้องตามนโยบายของโรงเรียนในแต่ละวันหรือไม่ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาราว 30 นาทีขึ้นไป หากนักเรียนผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติตาม ไม่ว่านักเรียนผู้นั้นจะมาจากสภาพครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมแบบใดก็ตาม จะถูกลงโทษหรือถูกประจาน ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาต่อจิตใจที่จะเรียนรู้ของนักเรียนผู้นั้นในวันนั้นอย่างมาก ผลกระทบดังกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามักละเลย ไม่ให้ความใส่ใจแต่อย่างใด ั้นมได้ก็จะถูกลงโทษซึ่งมีผลต่อบรรยากาศที่จะเรียนรู้ในวันนั้นไปนักเรียนจึงเรียนภายใต้บรรยากาศความหวาดกลัวและเป็นตราบาป อยู่ในสภาพปมด้อยในสังคม นอกจากนี้กระบวนการจัดการศึกษาที่ขาดการยกระดับความคิดเป็น ขาดการยกระดับจิตวิญญาณและขาดการใช้ Knowledge-based ในการดำเนินชีวิตและอาชีพนั้น มีผลให้ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ (Tangchuang, 2000)


ความหมายการศึกษานอกระบบ
คำที่เกี่ยวข้องกับงานการศึกษานอกระบบมีหลายคำ เช่น การศึกษาผู้ใหญ่(Adult Education) การศึกษานอกระบบ(Non-formal Education) การศึกษาต่อเนื่อง(Continuing Education) การศึกษาตลอดชีวิต(Lifelong Education) การศึกษาตามอัธยาศัย(Informal Education) เป็นต้น แต่คำเหล่านี้มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น "การศึกษาผู้ใหญ่" เป็น Education of adults (Courtney, 1991: 18) ซึ่งในแต่ละประเทศให้คำนิยาม “ผู้ใหญ่” แตกต่างกันออกไป การศึกษานอกระบบ(Non-formal Education) เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งก่อนและหลังวัยเรียนที่จัดนอกระบบโรงเรียน การศึกษาต่อเนื่อง(Continuing Education) เป็นการศึกษาที่จัดให้กับบุคคลที่จบการศึกษาและออกไปประกอบอาชีพแล้วกลับไปเรียนต่อเพิ่มเติม เช่น จัดการเรียนการสอนภาคเสาร์อาทิตย์หรือภาคค่ำ กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีงานทำแล้ว ในขณะที่การศึกษาตลอดชีวิต(Lifelong Education) หมายถึงการศึกษาของบุคคลที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อการอยู่รอดในสังคมเป็นสำคัญ ในขณะที่การศึกษาตามอัธยาศัย(Informal Education) เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่อดีตว่าแท้ที่จริงมนุษย์มีการพัฒนาวิถีชีวิตให้สัมพันธ์กับธรรมชาติ มีการเรียนรู้จากธรรมชาติ โดยเฉพาะสังคมในอดีตที่เป็นสังคมเกษตรกรรม ทำให้มนุษย์มีความผูกพันใกล้ชิดกัน มีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน รู้จัก เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองจากสภาพแวดล้อมโดยใช้การสังเกต วิเคราะห์ และการพยากรณ์สิ่งต่างๆ
การใช้คำที่ต่างกันภายใต้บริบทที่ต่างกันและการใช้เกณฑ์ที่ต่างกันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ เช่น เมื่อพูดถึงปริมาณผู้ใหญ่ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา พบว่าปริมาณผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของไทยมีน้อยกว่าของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศใช้เกณฑ์ของผู้ใหญ่ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต่างกัน กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1970s ไทยถือว่าคนที่ไม่จบ ป. 4 (การศึกษาภาคบังคับของไทยในสมัยนั้น) คือผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้เกณฑ์ผู้ใหญ่ที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(การศึกษาภาคบังคับของสหรัฐ) คือผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น การทำความเข้าใจเนื้อหาใด ๆ มีความจำเป็นต้องเข้าใจเกณฑ์หรือใช้มาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากประเทศไทยชอบใช้คำ ๆ เดียวกับสากล(International) แต่ใช้ในความหมายของตนเอง(Local) การนำเสนอหลายอย่างของภาครัฐจึงสร้างความสับสนและเข้าใจผิดพลาดได้เสมอ ๆ เช่นใน พ.ร.บ. การศึกษา 2542 ใช้คำว่าจัดการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน (free education) แต่ในสภาพเป็นจริงผู้เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถานศึกษาในปริมาณที่ไม่ต่างจาก พ.ร.บ. การศึกษาที่ไม่ปรากฏคำดังกล่าว หรือเมื่อมีการรณรงค์การรู้หนังสือ มีการจัดชั้นเรียนในภาคค่ำให้กับผู้สูงอายุอย่างกว้างขวาง และ ต่อมาแต่ละจังหวัดก็มีการประกาศว่า “จังหวัด.......ปลอดผู้ไม่รู้หนังสือ 100%” ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงยังมีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนมาก เป็นต้น
ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 3 ระบบการศึกษา มาตรา 15 (2) ว่า การศึกษานอกระบบเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
คำว่า "การศึกษานอกระบบโรงเรียน" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "การศึกษานอกระบบ" นั้นเพิ่งนำมาใช้อย่างกว้างขวาง พร้อม ๆ กับการตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2522 (สมบูรณ์ ศาลยาชีวิน 2526: 1) อย่างไรก็ดี พิชัย รัตตกุล (2529: 9) แสดงทัศนะว่า ถึงแม้ว่าคำว่า การศึกษานอกระบบโรงเรียนจะเพิ่งถูกนำมาใช้ก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงได้มีการจัดกิจกรรมทางการศึกษาทำนองเดียวกันนี้มาช้านานแล้ว ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งสมัยก่อนจัดขึ้นที่วัดโดยมุ่งหวังที่จะอบรม สั่งสอนให้ประชาชนประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนา เมื่อมีการจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น คำ "การศึกษานอกระบบโรงเรียน" ถูกนำมาใช้ในความหมายและแนวปฏิบัติว่า การศึกษานอกระบบโรงเรียนเป็นการจัดการศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือไปจากการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน ไม่ว่าการศึกษานั้นจะจัดขึ้นเป็นกิจกรรมการศึกษาโดยเฉพาะหรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอื่น เพื่อมุ่งให้รู้จักแก้ปัญหา ฝึกอาชีพหรือพัฒนาความเฉพาะอย่างตามความต้องการและความสนใจของพลเมือง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2520: 19)

ระดับการศึกษาของคนไทย
ในแนวคิดของรุ่ง แก้วแดง (2541: 5) หากประเทศไทยสามารถจัดการศึกษาได้ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมี 3 ประการคือ 1) เป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวลตลอดชีวิต (Education for All) 2) คนทั้งมวลมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (All for Education) และ 3) ให้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เต็มตามศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ได้แล้วคาดว่าคนไทยจะมีการศึกษาดีกว่าที่ปรากฏในแผนภูมิ 1

แผนภูมิ 1 สัดส่วนประชากรอายุ 25-64 ปี ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ ประเทศต่าง ๆ

(ที่มา : สกศ. 2543 : 13)

จากแผนภูมิ 1 จะเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอารยะประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิกแล้ว ประชากรไทยที่มีอายุ 25-64 ปีซึ่งเป็นวัยแรงงานที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจ วัยสร้างชาติ สร้างครอบครัว สร้างคุณภาพชีวิตของครอบครัวและวัยปลูกฝังอนุชนรุ่นใหม่ขาดการศึกษาขั้นพื้นฐานมากถึงร้อยละ 87 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลียและเกาหลี มีประชากรมีการศึกษาต่ำกว่าระดับขั้น พื้นฐานร้อยละ 81, 67, 43 และ 39 ตามลำดับ

แผนภูมิ 2 สัดส่วนประชากรอายุ 25-64 ปี ที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศต่าง ๆ พ.ศ. 2539
(ที่มา : สกศ. 2543 : 13)


ในขณะที่ข้อมูลแผนภูมิ 2 แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยอายุ 25-64 ปี จบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงร้อยละ 3 ซึ่งต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลี ซึ่งมีประชากรมี การศึกษาขั้นพื้นฐานร้อยละ 15, 26, 32 และ 42 ตามลำดับ

จากข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวได้บ่งชี้ว่าระดับการศึกษาของแรงงานไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตสินค้าหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้เท่าเทียมหรือแข่งขันกับประเทศใด ๆ ได้เลย คำถามที่ต้องหาคำตอบคือ เพราะเหตุใดประชากรไทยจึงมีระดับการศึกษาต่ำเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยประกาศให้ชาวโลกรับรู้ รับทราบว่าคนไทยมีการศึกษาสูงแล้วมาโดยตลอด เช่นเมื่อราว 1 ทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศว่าในปี พ.ศ. 2533 คนไทยมีอัตราการรู้หนังสือ (literacy rate) สูงถึงร้อยละ 93 โดยมีเด็กวัยเรียนที่ได้เรียนในระดับประถมศึกษาร้อยละ 93.8 ของประชากรกลุ่มอายุ 6-11 ปี และอัตราส่วนนักเรียนเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ต่อประชากรกลุ่มอายุ 12-14 ปี สูงถึงร้อยละ 65.0 ในปี 2537 (แผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2535) นั้นจึงขัดแย้งกับข้อมูลของ สกศ. อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามข้อมูลของ สกศ. ข้างต้นย่อมมีประโยชน์อย่างมากที่องค์การของรัฐจะต้องรีบเร่งดำเนินการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาจะต้องจัดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของห้องสมุดประชาชนซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญของการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบอีกด้วย(ทองอยู่ แก้วไทรฮะ2543: 6-8) นั้นห้องสมุดอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริการแบบรุก เน้นการกระตุ้นให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมากยิ่งขึ้น เช่นในรูปของห้องสมุดเคลื่อนที่ จัดนิทรรศการความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทเคลื่อนที่และรวมถึงพัฒนาที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านให้มีชีวิตชีวา เป็นต้น
ผลการวิจัยระดับการศึกษาของแรงงานไทยจำนวน 3,500 คนจากกว่า 120 สถานประกอบการ โดย CELS (2005) เปิดเผยว่าแรงงานที่มีอายุน้อย (อายุน้อยกว่า 28-36 ปี) ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง ในขณะที่แรงงานที่มีอายุมาก(อายุ 37 ปี ขึ้นไป) ส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ (ดูแผนภูมิ 3 ประกอบ) พัฒนาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก 2 เงื่อนไข กล่าวคือ ในเงื่อนไขแรกเกิดจากประสิทธิผลของการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนในเงื่อนไขที่สองเกิดจากการขยับระดับการศึกษาภาคบังคับนั่นเอง ซึ่งในกลุ่ม OECD เห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างมาจึงได้ยกระดับการศึกษาของประชาชนในช่วง 20 ปีโดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์ในแผนภูมิ 4

แผนภูมิ 3 ระดับการศึกษาสูงสุดจำแนก 4 กลุ่มอายุ















ข้อมูลจาก OECD (2002) ได้ชี้ให้เห็นว่าในประเทศกลุ่ม OECD มีพัฒนาการการศึกษาในประชาชน 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 55-64 ปีมีความแตกต่างด้านการศึกษาสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสเปนกลุ่มอายุ 55-64 ปี มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่ประชาชนกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 60



แผนภูมิ 4 เปรียบเทียบระดับการศึกษาจำแนก 2 กลุ่มอายุในประเทศกลุ่ม OECD ในปี 2002



การศึกษากับผลิตภาพแรงงาน
UNESCO(2005) ได้ส่งเสริมการยกระดับการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในโลกเพื่อให้ประชาชนรู้หนังสือมากขึ้นเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่มีการใช้ศักยภาพการรู้หนังสือเป็นพื้นฐาน(Knowledge-based) เป็นโลกยุคเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร(Information era) เป็นยุค Digital ที่ผู้ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ต้องรู้หนังสือ รู้ภาษาเครื่องมือ เทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนกว่าภาษาหนังสือ เป็นยุคที่มีการแข่งขันด้านการผลิตสูง เป็นยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มศักยภาพประชากรของตนเองให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เพิ่มจากราวร้อยละ 60 ในปี ค.ศ. 1970 เป็นราวร้อยละ 80 ในปี ค.ศ. 2005 อย่างไรก็ตามอัตราการเพิ่มดังกล่าวยังมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อย ในแผนภูมิ 5 ได้แสดงข้อมูลเชิงประจักษ์เปรียบเทียบช่องว่างระหว่างประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานต่อคนต่อชั่วโมงในประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2541 ว่าแรงงานไทยสามารถผลิตได้เพียงชั่วโมงละ 5.45 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานเกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาผลิตได้เท่ากับ 13.18, 23.79, 25.11 และ 31.28 ตามลำดับ
จากแผนภูมิ 5 ที่เสนอเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานต่อคนต่อชั่วโมงของแรงงานนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดค่าแรงของแรงงานไทยจึงต่ำกว่าค่าแรงของประเทศมาเลเซีย เกาหลีหรือสิงคโปร์ นั้น คำตอบค่อนข้างแน่นชัดคือ เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไทยสามารถผลิตได้ต่ำกว่า แรงงานของมาเลเซียเกือบเท่าตัวนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ควรกล่าวอ้างเพียงว่าค่าแรงในมาเลเซียสูงกว่าของไทยแต่ควรเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้สูงขึ้นก่อน ๆ ที่จะเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงให้ใกล้เคียงกับของมาเลเซีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องไม่ควรเสนอข้อมูลด้านเดียวเท่านั้น

แผนภูมิ 5 ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานต่อคนต่อชั่วโมง ในประเทศต่าง ๆ พ.ศ. 2541
(ปรับด้วยค่าอำนาจซื้อเปรียบเทียบ : PPP)

(ที่มา : สกศ. 2543: 15)

2. สภาพงานการศึกษานอกระบบโรงเรียน
Apps(1979) ได้กล่าวถึงปัญหางานการศึกษานอกระบบว่าเกิดจากหลากหลายประการเนื่องจากมีปรัชญาที่เน้นการดำเนินการที่ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความตระหนักและความสมัครใจของผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นการศึกษาที่นอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับพจน์ สะเพียรชัย (2529: 42-43) และพิชัย รัตตกุล (2529: 9-10) กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า เนื่องจากการศึกษาในระบบโรงเรียนไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอันสืบเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจรวดเร็วมากจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของโลก การศึกษานอกระบบโรงเรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องการการศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียนจึงเกิดมาพร้อมกับชีวิตของทุกคน คือตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย การศึกษาจึงถือได้ว่าเป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นปัจจัยที่ 5 ก็คงได้ เพราะการศึกษาทำให้คนเลือกสรรสิ่งที่ดีมาใช้เพื่อดำรงชีวิต อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนต้องจัดแตกต่างกัน โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสังคมเมือง ได้แก่
1.1 ชุมชนแออัด
1.2 เด็กและเยาวชนที่ไม่มีงานทำ
1.3 คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
1.4 คนทำงานนอกบ้าน
ฯลฯ
2. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสังคมชนบท ฝึกหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็คือความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตนั่นเอง กลุ่มเป้าหมายสังคมชนบท ประกอบด้วย
2.1 กลุ่มแรงงานภาคเกษตรกรรม
2.2 กลุ่มแม่บ้าน
2.3 กลุ่มหนุ่มสาว
2.4 กลุ่มอาชีพต่าง ๆ
2.5 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
2.6 ผู้นำกลุ่มต่าง ๆ
2.7 กลุ่มแรงงานที่เข้าไปทำงานในเมืองหรือโรงงานอุตสาหกรรม
2.8 กลุ่มแรงงานรับจ้างทำงานนอกภาคเกษตรกรรม
2.9 กลุ่มว่างงานหลังจากที่สถานประกอบการเลิกจ้าง
2.10 กลุ่มว่างงานหลังจากที่จบการศึกษา
2.11 กลุ่มคนจนจริง(Absolute poverty)
2.12 กลุ่มคนที่นับได้ว่าจน(Relative poverty)
ฯลฯ
แนวการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้นสามารถจัดทำได้โดยคำนึง ถึงพื้นฐานที่แท้จริงหรือสภาพบริบท ความต้องการและความจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในสภาวะสังคมภายในและสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง มีความร่วมมือและมีการแข่งขันสูง เช่น จัดการศึกษาสายสามัญเพื่อให้มีความรู้(Scientific knowledge) ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเพื่อใช้เป็นฐานในการทำงาน(Knowledge-based) จัดการฝึกอบรมทักษะและวิชาชีพระยะสั้น โดยเน้นการฝึกวิชาชีพที่เขาทำอยู่เพื่อให้สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมีมูลค่าสูงขึ้นหรือฝึกอบรมวิชาชีพใหม่เพื่อเสริมรายได้หรือเมื่อเห็นว่าอาชีพเก่ามีปัญหามากและหากดำเนิน การต่อไปจะยิ่งทำให้ประชาชนมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกเช่น ปัญหาของประชาชนอันเนื่องมาจากการแข่งกันผลิตจนผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาถูก และจำหน่ายไม่ได้นั้น การศึกษานอกระบบก็ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตนั้นๆหรือไม่ก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยลง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ไม่ต้องคอยเวลาให้ต้องเรียนในระบบโรงเรียนจนจบชั้นต่างๆ แล้วจึงค่อยหางานทำ แต่สามารถทำอาชีพควบคู่ไปกับการฝึกอบรมได้ ซึ่งบทบาทของนักการศึกษานอกระบบต้องพยายามกระตุ้นให้ชุมชน กลุ่มคนเห็นคุณค่า เกิดความตระหนัก ความมั่นใจ และให้อำนาจชุมชนในการตัดสินใจร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองตามแนวทางของ Paulo Freire ที่ว่า "คนจนและคนที่เสียเปรียบสามารถวิเคราะห์ความเป็นจริงของชุมชนได้ด้วยตนเอง"
การจัดการศึกษานอกระบบในอดีตค่อนข้างเลียนแบบการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนมาก เพียงแต่จัดนอกโรงเรียนเท่านั้น ดังที่ธีระ สุมิตร (2519: 69-70) ได้มองภารกิจของการศึกษานอกระบบว่า เป็นกิจกรรม ที่เป็นไปอย่างตั้งใจและมีระเบียบกฎเกณฑ์(ปกติจัดนอกระบบโรงเรียน) ซึ่งเนื้อหา สื่อ ระยะเวลา หลักเกณฑ์การรับนักศึกษา บุคลากรที่ดำเนินการและเครื่องอำนวยความสะดวกจะได้รับการเลือกสรร ปรับปรุงให้เหมาะกับนักศึกษา ประชาชนภายใต้สถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อที่จะให้ได้ผลสำเร็จมากที่สุดโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุดด้วย Coombs (อ้างในวิไล ตั้งจิตสมคิด 2526: 2) กล่าวถึงความหมายการศึกษานอกโรงเรียน ว่าหมายถึงกิจกรรมการศึกษาทุกประเภทที่จัดขึ้นนอกเหนือจากกิจกรรมการศึกษาในระบบโรงเรียนตามปกติ กิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการด้านการเรียนรู้แต่ละบุคคลที่สนใจ อาจเป็นกิจกรรมเสริมหรือต่อเนื่องกิจกรรมการศึกษาในโรงเรียน หรือบางกรณีอาจจัดขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกหรือจัดขึ้นเพื่อทดแทนการมานั่งในโรงเรียนก็ได้ Hall (1992: 6) มองงานการศึกษานอกระบบว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด(Learning never ends) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประชาธิปไตยหรือการถ่ายโยงของสังคม Hall ได้อ้างข้อคิดของเพื่อนของท่านชื่อ Betty Reardon ที่เน้นว่างานการศึกษานอกระบบประกอบด้วย 3 A's ได้แก่
1. การสร้างความตระหนัก (Awareness)
2. ให้รู้จักการวิเคราะห์ (Analysis) และ
3. ต้องลงมือดำเนินการ (Action)

Tangchuang (1999) เห็นว่างานการศึกษานอกระบบของไทยควรประกอบ ด้วย 4 A’s, 2 C’s ได้แก่
1. การสร้างความตระหนัก(Awareness) หมายความว่า การเรียนการสอนต้องส่งเสริมให้เกิดความ
ตระหนัก กล่าวคือ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เช่นปัญหาการแพร่ของโรคเอดส์ ปัญหายาบ้า ปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรล้วนเกิดจากการขาดความตระหนักทั้งสิ้น มีรายงานการวิจัยจำนวนมาก เช่น ของพศิน แตงจวงและคณะ (2536, 2539, 2541) วิชุลลดา มาตันบุญ (2543) พิเชฏฐ์ ชุมภูปฏิและคณะ (2544) เกี่ยวกับ ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาการขายบริการทางเพศ ปัญหายาบ้าพบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีความรู้ในปัญหาเหล่านั้นเป็นอย่างดี แต่พฤติกรรมที่กระทำลงไปล้วนเกิดจากการขาดความตระหนัก
2. ให้รู้จักการวิเคราะห์ (Analysis) หมายความว่า ในการเรียนการสอนผู้ใหญ่ซึ่งมีวุฒิภาวะและมี
ประสบการณ์มาแล้วควรเน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการวิเคราะห์หาเหตุผลมากขึ้น เนื่องจากการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ผ่านมาเน้นการท่องจำเป็นส่วนใหญ่(ธำรง บัวศรี 2543; ประเวศ วะสี 2542) ทำให้ผู้เรียนขาดการวิเคราะห์ความสำคัญระหว่างสิ่งที่เรียนรู้กับสภาพปัญหาที่เผชิญ ผู้เขียนมักพบปัญหาเสมอ ๆ เมื่อให้ทำกิจกรรมและออกข้อสอบประเภทให้ผู้เรียนวิเคราะห์ ผู้เรียนไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล อย่างไรก็ตามพศิน แตงจวง(2538) พบว่า ชาวบ้านมีศักยภาพในการวิเคราะห์หากกิจกรรมที่ดำเนินในการฝึกอบรมสัมพันธ์ชีวิตประจำวัน
3. ต้องลงมือดำเนินการ (Action) หมายความว่า การศึกษานอกระบบควรเน้นที่การเรียนรู้โดยผ่าน
กระบวนการลงมือกระทำตามแนวคิดของ Carl Rogers (อ้างในไผท สิทธิสุนทร 2543) และ Knowles (1981) ที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพตามธรรมชาติที่จะเรียนรู้และการเรียนรู้จะได้ผลดีหากการเรียนรู้นั้นมีความหมายหรือเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอยากเรียนรู้อย่างแท้จริงโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผ่านประสบการณ์ (Experiential learning) ผลการวิจัยของวนิดา แดนโพธิ์ (2539) ได้ชี้ให้เห็นว่าแรงจูงใจหรือการมองเห็นคุณค่ามีส่วนทำให้ชาวบ้านในชนบทสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพจากการเป็นเกษตรกรสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ โดยได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอาชีพเกษตรกรรม ตีเหล็กไปสู่อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าของชาวบ้านร่องฟอง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
4. ให้รู้จักประยุกต์ (Applying) หมายความว่า ในการเรียนการสอนผู้ใหญ่ควรเน้นการประยุกต์ใช้
ความรู้ทางวิชาการกับสถานการณ์ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าใช้ Knowledge-based (Tangchuang, 2000) ในการผลิตคิดค้นควบคู่กันไปกับงานที่ทำอยู่เป็นประจำ มากกว่าการใช้ความเคยชินหรือการทำตาม ๆ กัน หรือลอกเลียนแบบหรือผลิตซ้ำไปเรื่อย ๆ โดยขาดหลักการ เนื่องจากสินค้าที่สามารถขายได้ในตลาดโลกต้องสนองตอบความต้องการของลูกค้า มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
5. ต้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creativity) หมายความว่า ในการเรียนการสอนผู้ใหญ่ซึ่ง
เป็นผู้มีประสบการณ์นั้น จะต้องให้อิสรเสรีในการคิด แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ผู้ใหญ่จะไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวผิด แต่หากได้มีการส่งเสริม กระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์อย่างเสรี เช่น การให้สร้างโครงงาน (พศิน แตงจวง 2543) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสุพล วังสินธ์ (2543) ที่มีความเห็นว่าการส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างโครงงานเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ ทำงานโดยบูรณาการความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรมตามความสนใจของผู้เรียน
6. ต้องส่งเสริมการสร้างความรู้ด้วยตนเอง(Constructing) หมายความว่า การเรียนการสอนผู้ใหญ่ผู้มี
ประสบการณ์ชีวิตมาก่อนย่อมมีการสั่งสมความรู้ ความคิด ทักษะในการทำงาน ประกอบอาชีพ การศึกษาควรเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจ ภูมิใจในตนเอง โดยส่งเสริมให้สรุปบทเรียนจากประสบการณ์เป็นความรู้ของตนเอง เพื่อสามารถนำไปใช้กับการประกอบอาชีพการงาน การแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้อย่างชาญฉลาด การที่ผู้ใหญ่สามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองย่อมก่อให้เกิดความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในที่สุด เนื่องจากความรู้เหล่านั้นไม่แปลกแยกไปจากวิถีชีวิตของเขานั่นเอง
Chang (1971: 168) กล่าวถึงการศึกษานอกระบบโดยยึดกลุ่มเป้าหมายว่า เป็นการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของบุคคล 3 ประเภท คือ
1) ประชาชนที่ไม่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและกลายเป็นบุคคลที่อ่านเขียนไม่ได้
2) ประชาชนที่ได้รับการศึกษาบ้าง แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงจำเป็นต้องออกจากโรงเรียน
3) ประชาชนที่ได้รับการศึกษาระดับหนึ่งและภายหลังเข้าทำงานมีความจำเป็นและประสงค์ที่จะศึกษาเพิ่มเติมไม่ว่าจะเพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นหรือเพื่อเปลี่ยนงานใหม่
ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบของพศิน แตงจวง(2548) ที่ว่าในสถานประกอบการหลายแห่งส่งเสริมให้บุคลากรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้ทันสมัยขึ้นและเพื่อให้เกิดความเข้าใจในงานที่ทำ เน้นการทำงานให้เป็นระเบียบ จัดเก็บอย่างเป็นระบบตามแนว 5 ส. สถานประกอบการบางแห่งร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จัดให้การศึกษาและเทียบวุฒิการศึกษาให้กับพนักงาน อย่างไรก็ดีในกลุ่มของสหภาพแรงงานเน้นเป้าหมายการศึกษาเพิ่มเติมหรือการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น ความคิดของบรรจง ชูสกุลชาติ (2522: 4) ที่กล่าวว่า การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่พยายามจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ผิดหวังในระบบโรงเรียน หรือไม่มีโอกาสเข้าเรียนในระบบโรงเรียนหรือไม่ได้ รับความเสมอภาคจากการศึกษาในระบบโรงเรียน ให้มีโอกาสได้สมหวังในการศึกษาเพื่อให้มีเครื่องมือที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในสังคม ดังนั้น กิจกรรมที่จัดในงานการศึกษานอกระบบจึงควรเน้นที่ 3 ประเภทได้แก่
1) กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของผู้ใช้แรงงาน และกำลังรับจ้างหรือทำงานอยู่
2) กิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อเตรียมบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะเยาวชนนอกโรงเรียนสำหรับเข้าทำงานต่อไป
3) กิจกรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะความรู้และความเข้าใจที่อยู่นอกเหนือจากการงานเป็นเกณฑ์ (Harbison อ้างในอุ่นตา นพคุณ 2520: 5)
สอดคล้องกับความเห็นของเกียรติวรรณ อมาตยกุล (2526: 11) ที่มองภารกิจและวิธีการดำเนินงานการศึกษานอกระบบ ว่า เป็นกิจกรรมการศึกษาที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน จัดขึ้นตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้เรียน โดยยึดแนวคิดที่ว่า “การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือ การศึกษามุ่งพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักใช้ความคิด รู้จักตัดสินใจ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งให้ผู้เรียนมีอิสรภาพจากสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”
ปฐม นิคมานนท์ (2535: 47) ได้ให้ทัศนะว่าความหมายของการศึกษาผู้ใหญ่ในปัจจุบันกินความไปถึงการให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนวัยผู้ใหญ่ทุกคนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน จึงเป็นบริการการศึกษาที่จัดให้แก่ประชาชนทุกระดับความรู้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัด ความสนใจและความเหมาะสมของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่ง Tangchuang (1993) พบว่าแนวโน้มของการศึกษาผู้ใหญ่ในประเทศไทยจะส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักคิดให้รอบคอบ เพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาของกลุ่มตนเองมากขึ้น โดยใช้กระบวนการกลุ่ม (Group process), PRA (Participatory rural appraisal), RRA (Rapid rural appraisal) และ/หรือ A-I-C (Appreciation - Influence – Control) เป็นตัวนำโดยเฉพาะเพื่อให้รู้ซึ้งถึงที่มา ที่ไปของปัญหาให้มากที่สุดตามแนวคิดของ Paulo Freire ที่ว่าคนจนก็สามารถวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้(พศิน แตงจวง 2538)
จากความหมายที่กล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า การศึกษานอกระบบโรงเรียนเป็นกิจกรรมทุกประเภทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้สามารถอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้ดีที่สุด และผสมกลมกลืนกับบริบทของสังคมนั้น ๆ โดยคำนึงถึงศักยภาพความต้องการ สภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ของสังคมที่ผู้เรียนสังกัดอยู่ การศึกษานอกระบบโรงเรียนอาจจัดให้แก่ทุกผู้ทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนตายและกิจกรรมดังกล่าวไม่กำหนดไว้ตายตัวว่าองค์การใดเป็นผู้จัด อาจเป็นองค์การของรัฐ หรือองค์การเอกชน กลุ่มบุคคลในชุมชน หรือแม้กระทั่งบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อบุคคลใดก็ได้ เช่น พศิน แตงจวง (2536) ได้ทดลองรูปแบบการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์โดยผ่านนักศึกษาอาสาสมัครช่วยป้องกันเอดส์ทำการให้การศึกษาแก่เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวให้มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคเอดส์ ในปีเดียวกัน พศิน แตงจวง และคณะ (2536) ได้พบว่าการใช้ 4 อาสาป้องกันเอดส์ในชุมชนด้วยกระบวนการ Focus group discussion ทำให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ การจัดการเรียนการสอนนักศึกษาผู้ใหญ่ การอบรมการเขียนโครงงาน การสอนวิชาชีพขององค์การเอกชน เช่น ของ Y.M.C.A.โครงการที่ WELD จัดสรรทุนให้ NGO ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพแก่สตรี โครงการที่ NAPAC ให้การสนับสนุนองค์การจัดฝึกอบรมด้านอาชีพควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ โครงการ 4 อาสาสมัครป้องกันเอดส์ ของมูลนิธิศุภนิมิตร การดำเนินการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคาร หรือองค์การอื่น ๆ ที่ดำเนินการอย่างมากมายในปัจจุบันและกล่าวถึงงานที่นักศึกษาปริญญาโทไปพัฒนาชุมชน และต่อมาวัดก็มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาอาชีพประชาชนโดยเฉพาะสตรีให้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นที่โรงเรียน พุทธเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระของสังคมโดยเน้นงานด้านการศึกษา และฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงโสเภณีเด็ก (ดวงเดือน อุตตะมัง (2536: 4-5)