Sunday, January 18, 2015

การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21: แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติการ

การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21: แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติการ
พศิน แตงจวง
เกริ่นนำ
                ผลจากการคาดการณ์ของนักมองอนาคต(futurist) และนักเขียนชื่อดัง เช่น Alvin  Toffler (Future Shock ในปี 1970 และ The Third Wave ในปี 1980 Powershift ในปี 1990) John Naisbitt เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ Megatrends ตีพิมพ์ในปี 1982 และ Megatrens 2000 ตีพิมพ์ในปี 1990 นั่นคือมุมมองของนักเขียนเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการทั่วโลกต่างได้คาดการณ์ว่าโลกใบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง วุ่นวายอย่างมากในศตวรรษที่ 21  อันเนื่องมาจากผลของความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การแข่งขันเชิงเศรษฐกิจที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 (Hirst, Paul, 2001)
และดังที่ Narayana Murthy(2547) ได้กล่าวไว้เมื่อทศวรรษก่อนว่า กระแสโลกาภิวัตน์มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่สําคัญ  ประเทศต้องสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยมีความรู้เป็น รากฐาน  ซึ่งประกอบด้วยความรู้  และนวัตกรรม สอดคล้องกับ Peter Drucker  ที่เคยกล่าวไว้ว่า สังคมในยุคต่อ ไปต้องเป็นสังคมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน  ดังนั้นความรู้ และนวัตกรรมจึงเป็นแรงผลักดันที่สําคัญของการผลิต

http://www.catdumb.com/wp-content/uploads/2014/07/thomas-suarez11.png
โทมัส ซัวเรส เด็กมหัศจรรย์นักพัฒนาแอพอันโด่งดังด้วยวัยเพียง 12 ปี
          จากหนังสือ Future Shock ซึ่ง Alvin Toffler เขียนขึ้นในปี 1970 ได้กล่าวถึง   "too much change in too short a period of time" แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโลกอยู่ในภาวะสงครามเย็นซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เกิด หรือเป็นเด็กน้อย หรือกำลังเรียนหนังสือระดับประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา ก็ตาม ในช่วงนั้นมีการแข่งขัน ชิงดินแดนเพื่อแยกข้าง เช่น ในทวีปเอเชียมีสงครามแบ่งแยกข้างมาตั้งแต่สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม สาธารณูปโภคของไทยก็ยังไม่เจริญก้าวหน้าเฉกเช่นปัจจุบัน
อีก 1 ทศวรรษต่อมา Toffler ได้เขียนหนังสือชื่อ The Third Wave เป็นหนังสือที่ชี้ชัดแบ่งยุคความเจริญหรือพัฒนาการของโลกได้เป็น 3 ช่วง
          และอีก 1 ทศวรรษต่อมา Toffler ก็ได้เขียนหนังสือเพื่อเติมเต็มประเด็นที่กล่าวมาในสองเล่มแรก คือ  The Powershift : Knowledge, Wealth and Violence at the Edge of the 21st  Century in 1990 ซึ่งได้ชี้ชัดว่าจะเกิดการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น วุ่นวายมากขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 และส่วนหนึ่ง ของหนังสือเล่มนี้ได้ชี้ประเด็นชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคือ "The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn."ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ส่งผลออกมาอย่างชัดแจ้งว่าแม้คนจะได้ชื่อว่า “มีการศึกษาหรือไม่” นั้น แท้จริงแล้วคำว่า “คนที่ไม่มีการศึกษา(illiterate)” หมายถึง คนที่ไม่รู้วิธีการเรียนรู้ ปิดหูปิดตา หรือหยุดเรียน อันเนื่องจากเข้าใจว่าตนเองเรียนสูงแล้วซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ John Naisbitt นักพูดแนว futures studies ซึ่งได้ใช้เวลาวิจัยกว่า 10 ปี จึงได้เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ Megatrends ตีพิมพ์ในปี 1982 และ Megatrens 2000 ตีพิมพ์ในปี 1990 จุดเปลี่ยนของโลกนี้เกิดจากการเรียน การศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริงซึ่งที่ผู้ทำหน้าที่เป็นครูยุคใหม่จำเป็นต้องรู้(intuitive) และเข้าใจความจริงเหล่านั้น

          เนื่องจากครูจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่สอน พัฒนาผู้เรียน ครูจึงต้องพัฒนาสมรรถนะ(Competency) คือ ความรู้(Knowledge) ทักษะ(Skills) และคุณลักษณะ(Attributes) ที่จําเป็น ในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง(Job Roles)  ให้ประสบความสําเร็จในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ(สุทัศน์ นําพูลสุขสันต์ 2546 : 2) มีการวิจัยพบว่า การพัฒนาคน คู่แข่งจะสามารถตามทันต้องใช้เวลา 7 ปี ในขณะที่เทคโนโลยีใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็ตามทัน เพราะสามารถซื้อหาได้ ดังนั้น สมรรถนะจึงมีความสําคัญต่อการปฏิบัติงานของครู พนักงานและองค์กร

ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาหรือไม่

 หากวิเคราะห์เอกสารที่ผ่านมาถึงแนวคิด หลักการที่ปรากฏในแต่ละแผนพัฒนาการศึกษาของชาติจะเห็นได้ว่า นักวางแผนได้มีแนวคิดในการพัฒนาการตามห้วงเวลาของโลกที่พัฒนาไป กล่าวคือ มีแผนและดำเนินการผลิตในเชิงปริมาณชัดเจน และประเทศไทยก็สามารถทำได้ดีที่สุด โดยสามารถยกระดับแรงงานจากที่ส่วนใหญ่ ไม่มีการศึกษาจนถึงจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ปีในปี ค.ศ. 1975 เป็นแรงงานที่มีการศึกษาเฉลี่ย  8 ปี ได้ในปี ค.ศ. 2008 และก็เพิ่มปริมาณจำนวนปีการศึกษาของแรงงานขึ้นเรื่อยๆ (Mounier, Alain and Tangchuang, Phasina, 2014)
          หากแต่แนวคิดและเป้าหมายของการจัดการศึกษาหลายอย่างไม่สามารถเกิดผลขึ้นได้ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น บางคนก็กล่าวว่าเกิดจากปัญหาการศึกษาไทยมีหลากหลายและหมักหมม มานานเหมือนแผลที่พุพอง เน่าเฟะเต็มตัวคนไข้ ดังนั้น แม้นักการเมืองคนใดที่มาดูแลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง เลขาธิการ จะทำอะไร จะเน้นอะไรก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องหรือเยียวยาโรคนั้นได้ จึงได้มีการลองผิดลองถูกหรือโยนบาปให้แพะมาโดยตลอด
          กระนั้นก็ดี ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง หากนับตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นทางการมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งสร้างความทันสมัยและธำรงความเป็นเอกราชของชาติ ส่วน ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2520 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นการมุ่งสร้างการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม รูปแบบการประเมินผลการศึกษาถูกปรับเปลี่ยนจากการประเมินแบบคะแนนหรือ % ใช้ข้อสอบจากส่วนกลาง มาเป็นครูเป็นคนประเมินเอง ออกข้อสอบเองและให้ระดับคะแนนเองแบบ grade system และในครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2542 ที่มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 เป็นการมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปกับการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เนื่องในการปฏิรูปครั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างการบริหาร มีการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจำนวน 183 แห่ง เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 แห่ง และหน่วยงานส่วนกลาง จำนวน 16 หน่วยงาน การปฏิรูปในครั้งนี้ยังได้ให้แต่ละสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ได้กำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ ทุกขนาดว่า “ผู้อำนวยการ” และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดจากหลายประเทศที่ต้องการให้การจัดการศึกษามีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั่วประเทศ จึงได้นำกระบวนการติดตามและตรวจสอบโดยจัดตั้ง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งในปี พ.ศ. 2543      และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งในปี พ.ศ. 2548  ตามลำดับ
ผลจากการตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาดังกล่าว ก็พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยโดยภาพรวม(ผลการสอบ NT, O-NET) เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50  และเมื่อเยาวชนไทยเข้าสอบข้อสอบนานาชาติ เช่น PISA, TIMSS, Olympic วิชาการ ก็พบว่ามีผลตกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน ในขณะที่ผลการตรวจสอบกระบวนการดำเนินการจัดการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) ก็พบในทำนองเดียวกันว่าสถานศึกษาจำนวนมากไม่ผ่านมาตรฐาน
ผลจากการจัดการศึกษาดังกล่าว จึงต่อมาในปี พ.ศ.2552 ได้มีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียมกันในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา (อัญญรัตน์ นาเมือง 2553)

แนวคิด เพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
               การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
            จากการที่โลกได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มาเกือบ 2 ทศวรรษ และประเทศไทยก็ได้ปฏิรูปการศึกษาไปแล้วดังที่กล่าวแล้ว แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อไปอีกโดยเฉพาะในเหตุผลหลัก 2 ประการ ประกอบด้วย 1) เยาวชนพึงได้รับการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 และ 2) เยาวชนพึงได้รับการศึกษาให้เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศของตน
            แนวคิดเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย (1) ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมในด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการร่วมมือทำงาน (2) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีที่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ ด้านสื่อ และทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (3) ทักษะชีวิตและการทำงาน ในเรื่องความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การเพิ่มผลผลิตและความรู้รับผิด ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบรวมทั้งระบบสนับสนุนประกอบด้วย มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพ และสภาพการเรียนรู้ (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์ แปล, 2554 : 34)
               ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
            ปัจจุบันเป็นยุคที่โลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ของทุกภูมิภาคของโลกเข้าด้วยกัน กระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง การจัดการศึกษาต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะจำเป็น ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ดังกล่าว
                การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ โดยร่วมกันสร้างรูปแบบและแนวปฏิบัติในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะอ้างถึงรูปแบบ (Model) ที่พัฒนามาจากเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership For 21st Century Skills) (www.p21.org) ที่มีชื่อย่อว่า เครือข่าย P21  ซึ่งได้พัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่าทันด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อความสำเร็จของผู้เรียนทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C ซึ่ง 3R ได้แก่ 1) Reading(อ่านออก) 2) (W)Riting (เขียนได้) 3) (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น) ส่วน 7C ได้แก่ 1) Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา) 2) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม) 3) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรมต่างกระบวนทัศน์) 4) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) 5) Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ) 6) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 7) Career and Learning Skills (วิจารณ์ พานิช 2555 : 19)
            กรอบแนวคิดเชิงมโนทัศน์สำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นที่ยอมรับในการสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Model of 21st Century Outcomes and Support Systems) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเนื่องด้วยเป็นกรอบแนวคิดที่เน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน (Student Outcomes) ทั้งในด้านความรู้สาระวิชาหลัก (Core Subjects) และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยผู้เรียนได้เตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน รวมทั้งระบบสนับสนุนการเรียนรู้ ได้แก่ มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาครู สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21
            วิจารณ์ พานิช (2555 : 16-21) ได้กล่าวถึงทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ใน สาระวิชาหลัก(Core Subjects) ว่า ประกอบด้วย 1) ภาษาแม่ และภาษาสำคัญของโลก 2) ศิลปะ 3) คณิตศาสตร์ 4) การปกครองและหน้าที่พลเมือง 5) เศรษฐศาสตร์ 6) วิทยาศาสตร์ 7)  ภูมิศาสตร์ 8) ประวัติศาสตร์ โดยวิชาแกนหลักนี้จะนำมาสู่การกำหนดเป็นกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาเชิง สหวิทยาการ (Interdisciplinary) หรือหัวข้อสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยการส่งเสริมความเข้าใจในเนื้อหาวิชาแกนหลัก และสอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปในทุกวิชาแกนหลัก ประกอบด้วย 1) ความรู้เกี่ยวกับโลก (Global Awareness) 2) ความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy) 3) ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy) 4) ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และ 5) ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ซึ่งทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา การสื่อสารและการร่วมมือ ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย
            ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่  ความรู้ด้านสารสนเทศ  ความรู้เกี่ยวกับสื่อ  ความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เนื่องจากทักษะด้านชีวิตและอาชีพในการดำรงชีวิตและการทำงานในยุคที่มีการแข่งขันสูงให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้เรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญได้แก่ ต้องมีความยืดหยุ่นและการปรับตัว มีการริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง มีทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม เป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability) และมี ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)
            จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าคนในยุคศตวรรษที่ 21 นั้นต้องมีคุณสมบัติที่ซับซ้อนกว่าคนยุคก่อน และคนไทยก็ยังต้องได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิธีการเรียนรู้ที่ชอบคอยเรียน(หรือแม้ไม่อยากเรียน) จากครูที่สอนหน้าชั้นมาเป็นการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย และนั่นคือการจัดการศึกษาก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีตามไปด้วย
ครูในศตวรรษที่ 21 ควรมีคุณลักษณะเช่นไร
          การเรียนรู้ในยุคใหม่ ผู้เรียนต้องได้ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งการได้มาของทักษะเหล่านั้น เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ (2556) เสนอแนะว่าต้องอาศัยการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงาน PBL(Project Based Learning) ที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยเอาทฤษฎีไปจับกับการปฏิบัติจริง ทำงานจริง  เก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ จะได้ความรู้ใหม่จากการปฏิบัติจัดเป็นผลงานแบบ Implementation Research และในการที่ครูจะสามารถแนะแนว แนะนำหรือให้คำปรึกษาแก่นักเรียนได้อย่างถูกต้องนั้น ครูต้องลงมือทำก่อน สอดคล้องกับ วรากร สามโกเศศ(2554) ที่กล่าวถึง ในบทความ ครูเร็ฟแนะครูไทยว่า ครูต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ(trust)  ระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็กด้วยกันเอง หลักสำคัญก็คือครูอยากให้เด็กเป็นอย่างไร เช่น อยากให้เด็กพูดจาสุภาพ ไม่พูดปด ตรงต่อเวลา(ครูเร็ฟมาโรงเรียน 6.45 น.ทุกเช้าก่อนโรงเรียนเข้า 8 โมง เพื่อดูแลเด็ก) ซื่อสัตย์ เป็นคน nice และ decent ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อ่อนน้อมถ่อมตน ซาบซึ้งในสิ่งที่ คนอื่นทำให้ ฯลฯ ครูก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง(role model) และที่

Book Cover
                Malaty, George (2006) กล่าวถึงความสำเร็จของนักเรียนในประเทศ Finland ที่สอบ PISA ได้คะแนนสูงสุด ว่า ประกอบด้วย 5 เหตุผลหลัก(ควรศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารงานเขียนของ Malaty, George 2006) ประกอบด้วย
1. ความสำเร็จของกระบวนการผลิตครู (the success of pre-service teacher education)
2. วัฒนธรรมการเป็นครูระดับมืออาชีพ (the culture of the teaching profession)
3. ความสำเร็จของกระบวนการอบรมครูประจำการ (the success of in-service teacher education)
4. มีหลากหลายวิธีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ (the different efforts which have been made to develop mathematics education)
5. ระบบวิถีประจำวันในโรงเรียนของฟินแลนด์ (the daily traditions of school life in Finland)
         
          หลักการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูในประเทศฟินแลนด์ข้างต้น สอดคล้องกับ วิจารณ์ พานิช(2556) ที่กล่าวว่า การสอนที่ได้ผลเป็นเรื่องของ psychology(จิตวิทยา)  มากกว่าpedagogy(การเรียนการสอน) โดยครูได้ทุ่มเทการสอนด้วยจิตด้วยใจ ซึ่งสอดคล้องกับครูเร็ฟ ที่ได้ทำมาตลอดชีวิตการเป็นครู ซึ่งหนังสือชื่อ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ : สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง 56” นั้น ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Teach Like Your Hair's on Fire: The Methods and Madness Inside Room 56 มีต้นเหตุมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขณะที่ครูเร็ฟเข้าไปช่วยนักเรียนในการทดลองวิชาเคมี (chemistry experiment)  ดังความที่ว่า  "In trying to get her alcohol burner to light, I set my hair on fire and didn't even know it until the kids started screaming,"  "But as ridiculous as that was, I actually thought, if I could care so much I didn't even know my hair was on fire, I was moving in the right direction as a teacher — when I realized that you have to ignore all the crap, and the children are the only thing that matter."

          Malaty, George (2006) กล่าวถึงตัวอย่างพฤติกรรมการสอนของครูชาวฟินแลนด์ที่ช่วยนักเรียนแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะพบเห็นเป็นปกติว่าครูจะนั่งคุกเข่าต่อหน้าเด็ก และพูดคุย กระซิบเบาๆ เพื่อไม่รบกวนนักเรียนคนอื่น และจะไม่ตำหนิ ไม่ลงโทษนักเรียน แต่จะให้กำลังใจโดยไม่เปรียบเทียบกับใครๆ เช่นเดียวกับกรณีของครูเร็ฟ ที่ว่า ครูต้องไม่เปรียบเทียบผลการสอบกับเด็กคนอื่นๆ แต่ให้ดูพัฒนาการที่ผ่านมา หน้าที่ของครูคือการส่งเสริมให้เด็กเติบโตตามที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่ต้องเก่งกว่าเพื่อนที่นั่งข้างๆ (Never compare one student's test score to another's. Always measure a child's progress against her past performance. Our goal is to help each student become as special as she can be as an individual--not to be more special than the kid sitting next to her.) 
วิจารณ์ พานิช(2556ค) ได้ยกตัวอย่างครู 2 คน ชื่อJonathan Bergman และAaron Sams ที่ต้องการช่วยนักเรียนที่มีปัญหาตามชั้นเรียนไม่ทัน เพราะต้องขาดเรียนไปเล่นกีฬาหรือไปทำกิจกรรม หรือเพราะเขาเรียนรู้ได้ช้าคือ ครู ไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์โดยตรงอีกต่อไป แต่ถ่ายทอดผ่านวิดีทัศน์สั้นๆ 15-20 นาที ให้นักเรียนไปเรียนสาระความรู้ที่บ้าน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็กครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง ที่เรียนช้า กรอกลับครูได้ และจะดูซ้ำหลายครั้งก็ได้ ดูแล้วไม่เข้าใจ จะชวนพ่อแม่มาดูและช่วยอธิบายก็ได้ แล้วในวันรุ่งขึ้น นักเรียนก็ได้ทำโจทย์หรือกิจกรรมเพื่อฝึกใช้ความรู้นั้น  เกิดกระบวนการ  เรียนรู้โดยลงมือทำ”(Learning by Doing) ที่จะช่วยให้เด็กรู้ลึกและรู้จริง โดยครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ ครูฝึกหรือโค้ช เนื่องจากสิ่งที่ดีที่สุดที่นักเรียนพึงได้รับจากชั้นเรียนในปัจจุบัน ไม่ใช่เนื้อวิชา  เพราะสิ่งนั้นนักเรียนเรียนรู้เองได้  กระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องพึ่งครูคือการตีความวิชาเข้าสู่ชีวิตจริง หรือการประยุกต์ใช้ ความรู้ ในกระบวนการนี้นักเรียนต้องฝึกฝนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่ทำเป็นทีมร่วมกับเพื่อนและต้องการครูฝึกคอยช่วยแนะนำและให้กำลังใจ

สรุป
ยุคศตวรรษที่ 21 ถูกกล่าวขานในกลุ่มประเทศที่พัฒนาและได้มีการเตรียมการมานานกว่าสองทศวรรษก่อนถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว ดังนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 ประเทศต่างๆ ก็มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการสื่อสาร การศึกษา สังคม เศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วคือ การเกิดความตระหนัก กระตือรือร้นอย่างจริงใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ การคิด และการกระทำ
สำหรับคนไทย ส่วนใหญ่ยังมีความภาคภูมิใจที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครเฉกเช่นประเทศรอบข้าง จึงทำให้ความตระหนัก กระตือรือร้นน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศ ดังที่มีการสำรวจในระดับนานาชาติเกี่ยวกับความพร้อมที่จะเข้าสู่สมาคมอาเซียน พบว่า คนไทยเข้าใจ ตระหนักรู้น้อย ภาพที่พบเห็นทั่วไปอาจจะมีเพียงติดธงสัญลักษณ์ประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งเป็นแนวคิดแบบเก่าๆ ทั้งๆ ที่มันไม่มีความหมายใด ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 เลย
โดยหลักการแล้ว เมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ของกลุ่มอาเซียนและของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วจะทำให้นักบริหารต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อสภาวะแวดล้อม แต่จากผลการประเมินของ สมศ.และจากการสังเคราะห์งานวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ของนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและเอกในเกือบทุกสถาบันการศึกษาที่ผ่านมา กลับพบว่า คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาไทยไม่ว่าจะเอาหลักการทฤษฎีใดเข้าไปจับเป็นต้นว่า หลักธรรมาภิบาล การบริหารแบบมีส่วนร่วม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง SBM หรือ PDCA หรือ ฯลฯ สารพัดรูปแบบมาจับ ล้วนมีผลออกมาว่าผู้บริหารทำงานได้ดีทั้งนั้นและงานวิจัยดังกล่าวก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ ผลิตซ้ำๆ จนทำให้ผู้บริหารเชื่อมั่นว่าตนเองบริหารงานได้ดี แต่ผลของการจัดอันดับบริหารการศึกษาของไทยกลับอยู่ในอันดับ 7,8,9 ตามลำดับของเอเชีย(ดูภาพ 1 และ 2ประกอบ) นั้นแปลว่าอะไร
ภาพ 1 WEF จัดอันดับการศึกษาไทยปี 2556
http://www.uasean.com/images/blog/kerobow01/20131004151807.jpg
ภาพ 2 WEF จัดอันดับการศึกษาไทยปี 2014-2015

รูดอีก! WEFจัดอันดับการศ

นั่นคือ ผลการประเมินและการวิจัยที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนสภาพจริงของการจัดการศึกษาไทยแต่อย่างใด ไพฑูรย์ สินลารัตน์ จึงได้กำหนดคุณลักษณะครูไทยในยุคศตวรรษที่ 21 ไว้ว่าประกอบด้วยทักษะจำเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ทักษะในการตั้งคำถามเพื่อช่วยให้นักเรียนกำหนดรู้เป้าหมายและคิดได้ด้วยตนเอง ทักษะที่สอนให้นักเรียนหาความรู้ได้ด้วยตัวเองและด้วยการลงมือปฏิบัติ  ทักษะการคัดเลือกความรู้ตามสภาพแวดล้อมจริง  ทักษะในการสร้างความรู้ ใช้เกณฑ์การทดสอบและตรวจสอบความถูกต้องอย่างไรเพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง  ทักษะให้นักเรียนคิดเป็นหรือตกผลึกทางความคิด  ทักษะในการประยุกต์ใช้ และ ทักษะในการประเมินผล

บรรณานุกรม

จิรประภา อัครบวร  โครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยามนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  
          บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.
______ (2556ก). การสร้างการเรียนรู้ สู่ศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: ส. เจริญการพิมพ์
______(2556ข) สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์ กรุงเทพฯ: บริษัท สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์
พับลิสชิ่ง จำกัด
______(2556ค) ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง กรุงเทพฯ: มูลนิธิสยามกัมมาจล
วรากรณ์ สามโกเศศ(2554) “ครูเร็ฟแนะครูไทย”  มติชนรายวัน  พฤ. 20 ต.ค. สืบค้นเมื่อ 20 ธค.
          2557, จาก : www.varakorn.com/upload/page/matichon_daily/20_oct_11_daily.pdf
เรฟ เอสควิท(2554) ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ: สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง 56
          แปลมาจาก Teach Like Your Hairs’ on Fire: The Methods and Madness inside Room
          56. กรุงเทพฯ : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด. (2555). The Story: การศึกษาในศตวรรษที่ 21 แนวทางการ
            สร้างนักเรียนพันธุ์ใหม่. School in focus. 4: สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2557, จาก :
            http://www.aksorn.com/sif_pics/2555/70/SIF11%20-%2021st%20Century%20Skills-1.pdf
อัญญรัตน์ นาเมือง (2553) “การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย” Princess of Naradhivas
            University Journal ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พค.-สค.
Bellanca, James and Brandt, Ron (2011) ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อทศวรรษที่ 21st
          21st  Century Skills: Rethinking How Students Learn. (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป
          จิตตฤกษ์, แปล).  หน้า 34.
Hirst, Paul.(2001) War and Power in the 21st Century. Cambridge: Polity Press.
Malaty, George (2006) What are the reasons behind the success of Finland in PISA?
          University of Joensuu, Finland.
Mounier, Alain and Tangchuang, Phasina (2014) Quality Issues of Education in Thailand
          บทความเสนอเพื่อตีพิมพ์รวมเล่ม โดยมี Professor Dr. Gerald W. Fry เป็น Editor หนังสือชื่อ
          Thai education พิมพ์โดยบริษัท Springer


No comments: