การเตรียมโครงร่างงานวิจัย*
พศิน แตงจวง
บทนำ
การศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษานั้น
นอกจากที่ผู้ศึกษาจะต้องเรียนจนครบรายวิชาที่กำหนดในหลักสูตรแล้ว สำหรับผู้ที่เรียนสาย
ข. จะต้องสอบข้อสอบประมวลความรู้(Comprehensive)
และเสนอผลงานที่คิดค้นที่เรียกว่าสารนิพนธ์(Independent study) ในขณะที่ผู้เรียนสาย ก. จะต้องเสนอผลงานที่คิดค้นหรือทดลองซึ่งเรียกว่าวิทยานิพนธ์(Thesis)
ไม่ว่าจะทำสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ ผู้ศึกษาจะต้องผ่านการสอบป้องกันโครงร่างงานนิพนธ์ของตนเองกับคณะกรรมการก่อนสามารถลงมือเก็บข้อมูลได้
สำหรับการเตรียมพัฒนาโครงร่างงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์
โดยทั่วไปมีองค์ประกอบ ดังนี้
บทที่ ๑ บทนำ
บทที่ ๒ วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
บทที่ ๓
วิธีดำเนินการวิจัย
บรรณานุกรม
หลักการเขียนบทที่ ๑ บทนำ
โดยทั่วไปแล้ว
ส่วนประกอบในบทที่ ๑ ประกอบด้วย
1.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
(Background and Significance of the Study)
2.
คำถามการวิจัย (Research
Questions)
3.
วัตถุประสงค์การวิจัย (Purposes
of the Study)
4. สมมุติฐานการวิจัย (Hypotheses)
5.
ขอบเขตของการวิจัย (Delimitation of the
Study)
6. วิธีการดำเนินการวิจัย (Research Procedure of the
Study)
7. ประโยชน์ที่ได้รับ (Practical
Application)
8.
นิยามศัพท์เฉพาะ (Definition
of Terms)
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหามีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการสร้างฐานให้ผู้อ่านโครงร่างงานวิจัยทราบและเข้าใจเรื่องราวที่มาที่ไปของงานวิจัยที่จะทำในเบื้องต้นว่า ผู้วิจัยมีต้นทุนด้านวิชาการเพียงใดหรือได้ทำการค้นคว้า ศึกษาในเบื้องต้นเรื่องอะไรมาแล้วบ้าง เป็นประเด็นปัญหาที่
________
*เอกสารประกอบการบรรยาย นศ.ระดับปริญญาโท มมร.ล้านนา ณ.ห้องประชุมเทศบาลเมืองแม่เหียะ
๗ มีค. ๒๕๕๗
น่าสนใจหรือไม่
ใช้เหตุผลเชิงวิชาการหรือทฤษฎีอะไรที่ไปสนับสนุนการมองประเด็นปัญหาในการวิจัยใน
เบื้องต้นและจากการที่ผู้วิจัยได้ทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมา
มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้หรือไม่อย่างไร และเพียงใดเพื่อให้คณะกรรมการหรือผู้อ่านได้รับทราบสาระของการวิจัยมากที่สุด(Creswell,
John W.,2009; Wilkinson, A.M.,1991; Gall, Meredith D.; Gall, Joyce P. and Borg,
Walter R.,2007; Tuckman, Bruce W., 1978)
การจะทำวิจัยแต่ละครั้ง
ผู้วิจัยจะต้องเสนอเหตุผลเฉพาะของการทำวิจัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอตัวปัญหา(Research
problems)ที่ผู้วิจัยได้วิเคราะห์และสังเคราะห์มาแล้วอย่างดี ชัดเจน
และต้องชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาว่า ถ้าหากไม่ทำการวิจัยครั้งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาอะไร
โดยผู้วิจัยจะต้องเสนอขอบข่ายทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลงานวิจัยจากแหล่งต่าง ๆ อย่างครอบคลุม
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องที่สืบค้นมานั้นต้องมีหลักฐานที่อ้างอิงและยืนยันเพื่อชี้ประเด็นว่าเรื่องที่จะทำนั้นมีความสำคัญ
และมีแนวทางในการตอบคำถามปัญหาการวิจัยอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว
เมื่อได้อ่านส่วนนี้แล้ว
จะทราบและเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้วิจัยมีความเข้าใจหรือใช้หลักการ แนวคิดถูกต้องหรือไม่
หรือครอบคลุมมากน้อยเพียงใดซึ่งมีความสำคัญมากและจะได้หาทางช่วยเหลือ
เสนอแนะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยิ่งหากผู้วิจัยต้องการเสนอเพื่อขอรับทุนวิจัย
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเข้มงวดอย่างมาก ผู้วิจัยจึงต้องค้นคว้าอย่างลุ่มลึก รอบด้านและต้องมีความชัดเจน
กล่าวโดยสรุป
ในการเสนอความเป็นมาและความสำคัญของปัญหานั้นมีความสำคัญมาก
และควรเขียนหลังจากที่ได้ศึกษา ค้นคว้า ทบทวนวรรณกรรมมาอย่างดีแล้ว อนึ่ง ในการเสนอส่วนนี้ในโครงร่างการวิจัย(Research Proposal) อาจมีความไม่ชัดเจนหรือสมบูรณ์เพราะเป็นเพียงโครงร่างที่เสนอว่าจะทำ แต่หากเขียนรายงานการวิจัย(Final
Research Report) จะต้องปรับปรุง พัฒนาให้สมบูรณ์ สำหรับเอกสารชิ้นนี้ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการเตรียมการพัฒนาโครงร่างงานการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ
ดังนี้
1. ควรเริ่มด้วยการเสนอภูมิหลัง ความเป็นมาเชิงวิชาการ
หลักการ ที่มาของปัญหาการวิจัย (Research problem)โดยหาและใช้เหตุและผลเชิงวิชาการมาสนับสนุน
ผู้เสนอต้องวิเคราะห์ ความคิดและสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น
เพื่อชี้ให้เห็นความจำเป็น และความสำคัญของการทำวิจัย(Creswell,
John W., 2009:102) เรื่องที่อ้างอิงและนำมาสนับสนุนควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ทำเท่านั้น
โดยจะต้องไม่เขียนออกนอกกรอบ
2. จากนั้นควรเน้นจุดสนใจของการศึกษาวิจัย มูลเหตุของการจะทำวิจัย
ที่ผู้วิจัยจะทำการศึกษาค้นคว้า เช่น เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจ
หรือเป็นประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับคำตอบครบถ้วน หรือยังขาดรายละเอียดโดยเฉพาะภายใต้บริบทที่จะทำวิจัย
3. ในการเขียนบริบทจะต้องบรรยายถึงสภาพทั่ว ๆ
ไปของบริบทให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความจำเป็นต้องศึกษา และชี้ให้เห็นว่าหากได้รับคำตอบจากงานวิจัยจะมีคุณประโยชน์
และมีคุณค่าอย่างไร
4. กรณีงานที่ศึกษา มีผู้อื่นได้ศึกษามาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว
ควรชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของบริบท(กลุ่มตัวอย่าง) หรือช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยอ้างหลักการ
และเหตุผลที่จะต้องทำวิจัยใหม่อีกในครั้งนี้
5. ในการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาอาจจะใช้วิธีต่อไปนี้
5.1 เขียนจากหลักการ
และนำเข้าสู่เรื่องเฉพาะ (Deductive Method)
5.2 เขียนจากเรื่องเฉพาะ แล้วดำเนินไปถึงเรื่องทั่ว ๆ ไป (Inductive Method)
5.2 เขียนจากเรื่องเฉพาะ แล้วดำเนินไปถึงเรื่องทั่ว ๆ ไป (Inductive Method)
อย่างไรก็ตาม ในการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา จะใช้แบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
และการวางแผนของผู้วิจัย โดยผู้วิจัยควรหาหลักฐานมายืนยัน สนับสนุนข้อมูลทุกขั้นตอน
และพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาและ/หรือคณะกรรมการเข้าใจและอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยได้
6. คำถามการวิจัย (Research Questions) หลังจากที่ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างดี จะทำให้ได้ประเด็นที่เรียกว่า “ปัญหาการวิจัย” ชัดเจน จากนั้นจึงนำปัญหาการวิจัยมาสร้างเป็นคำถามการวิจัยและนำเสนอใน paragraph สุดท้าย
6. คำถามการวิจัย (Research Questions) หลังจากที่ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างดี จะทำให้ได้ประเด็นที่เรียกว่า “ปัญหาการวิจัย” ชัดเจน จากนั้นจึงนำปัญหาการวิจัยมาสร้างเป็นคำถามการวิจัยและนำเสนอใน paragraph สุดท้าย
วัตถุประสงค์การวิจัย (Purposes
of the Study)
วัตถุประสงค์การวิจัยเป็นหัวใจของการวิจัยซึ่งจะต้องพัฒนามาจากคำถามการวิจัย
วัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางและเงื่อนไข
โดยเน้นถึงผลที่ได้รับในเชิงปฏิบัติได้จริงซึ่งตอบคำถามการวิจัย ภาษาที่เขียนในวัตถุประสงค์จะต้องบ่งชี้ถึงแนวทางเก็บข้อมูล
สามารถวัดได้และตรวจสอบได้ นอกจากนี้ วัตถุประสงค์การวิจัยยังเป็นตัวบ่งชี้ว่า
ผู้วิจัยมีเป้าหมายจะทำอะไร จะทำอย่างไร และคาดว่าจะได้อะไรจากการวิจัย
เป็นการแสดงเจตจำนงที่จะหาคำตอบในขอบเขตจำเพาะ
สมมุติฐานการวิจัย (Hypotheses)
การตั้งสมมติฐานการวิจัยเป็นการคาดคะเนว่าคำตอบที่จะได้จากการวิจัย
จะออกมารูปแบบใดเพื่อเป็นแนวทางในการแสวงหาคำตอบที่แท้จริงต่อไป(อุเทน ปัญโญ 2545:111) ในการตั้งสมมติฐานผู้วิจัยไม่สามารถนึกเอาเองหรือลอกเลียนแบบจากงานวิจัยชิ้นอื่นๆ
แต่ต้องได้มาจากการทบทวนวรรณกรรมจากปัญหาการวิจัยและสามารถดำเนินการทดสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์(Tuckman, Bruce
W., 1978: 25)
ขอบเขตการวิจัย (Delimitation of the Study)
ในการเขียนขอบเขตการวิจัยแบ่งได้ ๒ ส่วนคือ ขอบเขตด้านพื้นที่ และขอบเขตด้านเนื้อหา
ขอบเขตด้านพื้นที่เป็นการเขียนให้ทราบว่าผู้วิจัยจะทำวิจัยที่ไหนเพราะเหตุใด และประชากรเป็นใครบ้าง
ส่วนขอบเขตด้านเนื้อหาเป็นการบอกว่า
วัตถุประสงค์แต่ละข้อนั้น ผู้วิจัยจะศึกษาครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง ประโยชน์ของการเขียนส่วนนี้ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้ทำวิจัยไม่หลงทางและคณะกรรมการผู้ตรวจโครงร่างงานวิจัยจะทราบทิศทางและความลุ่มลึกของงานวิจัย
ดังนั้นจึงควรนำวัตถุประสงค์แต่ละข้อมาขยายรายละเอียด
วิธีการดำเนินการวิจัย (Research
Procedure of the Study)
ในการเขียนวิธีการดำเนินการวิจัยในบทที่ ๑ นั้น จะเขียนเพียงคร่าว ๆ เพื่อให้คณะกรรมการมองเห็นภาพว่า ในการตอบวัตถุประสงค์แต่ละข้อนั้น ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลที่ไหน กับใคร (กับประชากร หรือ กับกลุ่มตัวอย่าง) เครื่องมือจะมีอะไรบ้าง จะสร้างเองหรือจะยืมใครมา จะหาค่าความน่าเชื่อถือแบบใด จะใช้วิธีวัดค่าความน่าเชื่อถือของเครื่องมืออย่างไร จะมีวิธีการรวบรวมข้อมูลอย่างไร ในการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้สถิติอะไร ลึกขนาดไหนหรือไม่ เช่น จะมีการเปรียบเทียบตัวแปรหรือไม่ รวมไปถึงจะใช้เวลาในการวิจัยนานเท่าไร นักวิจัยจะต้องกล่าว ถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้คณะกรรมการเข้าใจหรือเกิดความเชื่อถือในเบื้องต้นว่าควรจะอนุญาตให้ดำเนินการต่อได้หรือไม่
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Practical
Application)
ในการเขียนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำการวิจัยนั้น ควรเขียนว่า เมื่อตอบวัตถุประสงค์แต่ละข้อแล้วจะได้ประโยชน์อะไร อย่างไรบ้าง แก่ องค์กร สถาบันหรือหน่วยงาน อาจเป็นประโยชน์ทางตรงและ/หรือทางอ้อม ก็ได้ อย่างไรบ้าง
ในการเขียนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำการวิจัยนั้น ควรเขียนว่า เมื่อตอบวัตถุประสงค์แต่ละข้อแล้วจะได้ประโยชน์อะไร อย่างไรบ้าง แก่ องค์กร สถาบันหรือหน่วยงาน อาจเป็นประโยชน์ทางตรงและ/หรือทางอ้อม ก็ได้ อย่างไรบ้าง
นิยามศัพท์เฉพาะ (Definition
of Terms)
การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะมีความสำคัญมาก
เพราะจะทำให้คณะกรรมการเข้าใจคำศัพท์เฉพาะบางตัวที่ผู้วิใจนำมาใช้ ควรนำคำศัพท์เฉพาะมาเขียนเพื่อ
“อธิบายและสื่อความหมาย” ระหว่างผู้ทำวิจัยและผู้อ่านให้เข้าใจตรงกัน
โดยเฉพาะคำที่มีความหมายหลากหลายในบริบทที่ต่างกัน การนิยามศัพท์ควรเขียนในรูปนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ
(Operational Definition) ที่วัดและตรวจสอบได้ ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับเรื่องที่ทำการวิจัย ครอบคลุมสภาวะ
และเงื่อนไขของหลักวิชาการ ทั้งนี้ ควรคัดเลือกเพียงคำหลัก ๆ จากหัวข้อวิจัยและวัตถุประสงค์การวิจัย เท่านั้น
หลักการเขียนบทที่ ๒ วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
โดยหลักการแล้วในการเขียนบทนี้
ผู้วิจัยควรกำหนดกรอบเนื้อหาที่ศึกษาให้ชัดเจนถึงสิ่งที่จะทบทวนวรรณกรรมและหลังจากที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสอบโครงร่างแล้ว
หากมีความจำเป็น อาจจะต้องขยายเนื้อหาเพิ่มเติมจากที่ได้เสนอในโครงร่างการวิจัย
เนื่องจากขณะที่ลงพื้นที่ทำการวิจัยจริง ความรู้ที่เคยมีหรือทบทวนก่อนอาจไม่เพียงพอ
โดยทั่วไปแล้วการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญที่สุดเพราะจะทำให้ผู้วิจัยทั้งมือเก่าและมือใหม่ได้องค์ความรู้ที่ใช้เปรียบเสมือนเป็นไฟฉายส่องนำทางงานวิจัยของเรา
หากได้มีการทบทวนดี ชัดเจน มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างดีจะทำให้ผู้วิจัยค้นพบตัวแปร(variables) (Tuckman,
Bruce W., 1978: 38) การวิจัย จะมีความมั่นใจอย่างมากที่จะป้องกัน(defend)ตนเอง เมื่อถึงเวลา จึงควรหลีกเลี่ยงการเขียนแบบตัดต่อ(cut and
paste) หรือเป็นขนมชั้น(และไม่ควรอ้างเหตุผลว่าคนอื่นๆ ยังทำได้) เพราะนั่นเป็นการเสียเวลา
เปลืองกระดาษ มากกว่าจะได้เรียนรู้
เพราะการตัดต่อไม่ได้ช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจวรรณกรรมนั้นอย่างลึกซึ้งและมีข้อโต้แย้งทางวิชาการจำกัดมาก
เนื่องจากแต่ละแนวคิดและทฤษฎีจะมีความเป็นเอกภาพของมันเอง ไม่สามารถที่จะอ้างอิงร่วมกันได้
ยกเว้นงานนั้นต่อยอดจากแนวคิด ทฤษฎีเดียวกัน แต่แนวคิด ทฤษฎีที่แตกต่างกันสามารถนำมาโต้แย้ง(argue)กันได้ และทำให้เข้าใจบริบทลึกซึ้งอย่างมาก วิธีการเขียนๆ ที่เพียงเพื่อให้มีเนื้อหามากจึงไม่ได้ช่วยให้เรียนรู้อะไรอย่างลึกซึ้งเลย
Gall,
Meredith D.; Gall, Joyce P. and Borg, Walter R. (2007:96-97) กล่าวว่า
งานวิจัยที่มีคุณค่านั้น นักวิจัยจะต้องทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างดี การละเลยดำเนินการทบทวนวรรณกรรมอย่างรอบด้านและลุ่มลึกนั้น
จะทำให้งานวิจัยที่ดำเนินการใหม่นี้ขาดคุณค่าและไม่ได้รับการยอมรับหรือดึงดูดใจจากนักวิชาการที่อ่านผลงานวิจัย
ผลของการทบทวนวรรณกรรมอย่างดีจะทำให้ได้แนวคิดในการกำหนดขอบเขตการวิจัยที่ดี จะได้ทิศทางการวิจัยที่ชัดเจน(seeking
new lines of inquiry) นอกจากนี้การทบทวนวรรณกรรมอย่างครบถ้วนจะช่วยไม่ให้งานวิจัยที่ทำใหม่ไร้คุณค่าหรือไร้ประโยชน์(avoiding
fruitless approaches) แต่จะช่วยให้ gaining methodological
insights คือจะช่วยให้การออกแบบการวิจัยใหม่เหมาะสม
ถูกต้องจากการที่เรียนรู้งานวิจัยชิ้นเก่าๆ ว่าเคยดำเนินการแบบใดที่ได้ผลดีหรือไม่ได้ผลดีมาก่อนสอดคล้องกับที่
Creswell, John W.(2009:25-26) กล่าวว่า การทบทวนวรรณกรรมจะช่วยให้งานที่ทำใหม่
filling in gaps and extending prior studies
หรือเติมเต็มหรืออุดช่องว่างงานวิจัยชิ้นก่อนๆ อีกด้วย
อนึ่ง
เมื่อทบทวนประเด็นเนื้อหาจบแต่ละประเด็น ผู้วิจัยจะต้องสรุป โดยเขียนตามความเข้าใจของผู้วิจัยเพื่อจะได้ไม่หลงทาง
และควรจะชี้ส่วนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยครั้งนี้ว่ามีอะไรบ้าง
องค์ประกอบที่ควรปรากฏในบทนี้
ได้แก่
๑.
นิยามศัพท์ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
๒.
ข้อความรู้ทั่วๆ ไปอย่างกว้างขวาง(บทความวิชาการทั้งที่ตีพิมพ์
นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ:
conferences หรือใน e-journals เนื้อหาจากตำรา
หรือที่ได้รับจาก lecture บทความเสนอผลการวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศ)
รวมถึงเงื่อนไข ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
๓.
ควรหลีกเลี่ยง(อย่างยิ่ง) ที่จะนำเสนอกฎหมาย
กฎ ระเบียบมาอ้างโดยไม่เข้าใจรากเหง้าที่มาของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น
เพราะจะนำท่านไปสู่ทางตัน หาทางออกไม่ได้ เพราะทุกกฎหมาย ทุกระเบียบมีที่มาที่ไป
มีแนวคิด มีทฤษฎีรองรับทั้งสิ้น แต่การที่ท่านนำมาอ้างโดยไม่เข้าใจก็ไม่แตกต่างจากการ
“มองคนที่รูปร่างภายนอก” เท่านั้น
๔.
สภาพบริบทที่จะศึกษา
ควรเขียนให้ชัดเจนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง อย่างไร
เพราะอะไร การที่ผู้วิจัยมองสภาพปัญหาของบริบทไม่แตกหรือไม่ชัด แล้วจะเข้าไปแก้ไขนั้น
อาจจะสร้างปัญหาใหม่ หรือไม่ก็ทำให้ปัญหาใหญ่โตมากขึ้นๆ หรือไม่ก็ไร้ค่า
ไร้ประโยชน์ แล้จะทำวิจัยทำไม ทำให้หลงประเด็นเปล่าๆ เลิกแนวคิดแบบน้ำเน่าเสียทีเถิด
๕.
การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ควรศึกษาจากต้นฉบับ(หากทำได้)
ควรหลีกเลี่ยงการอ้างข้อมูลมือสอง(หากสามารถหาต้นฉบับได้) และควรอ่านทั้งเล่มเพราะจะทำให้เข้าใจว่า
วิจัยชิ้นนั้นออกแบบการวิจัยอย่าไร ผลเป็นอย่างไรภายใต้ปัจจัย เงื่อนไขนั้นๆ มีข้ออภิปรายอะไรบ้าง มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง และมีข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไปอย่างไร
การอ่านทั้งเล่มจะได้ประโยชน์มากกว่าอ่านเพียงบทคัดย่อหรือลอกตามงานวิจัยเล่มอื่นๆ
ซึ่งนิยมทำกันเพื่อให้ผ่านพ้นหรือให้ครบตาม “พิธีกรรม” เท่านั้น
๖.
สรุปภาพรวมเพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยครั้งนี้
หลักการเขียนบทที่ ๓ วิธีดำเนินการวิจัย
หลักในการเขียนบทนี้ผู้วิจัยจะต้องเสนอภาพที่ขยายความต่อจากการเขียนในบทที่
๑ อย่างละเอียดว่า ในแต่ละส่วนประกอบต่าง ๆ จะได้มาอย่างไร จะมีขั้นตอนอะไรบ้าง จะมีการตรวจสอบ
น่าเชื่อถือเพียงใด เช่น
๑.
ประชากรจะเป็นใครบ้าง
ทำไมจึงเป็นกลุ่มนั้น มีจำนวนเท่าไรและหากจะใช้กลุ่มตัวอย่างจะต้องอธิบายว่าได้มาโดยวิธีใด
แบบใดและมีปริมาณเท่าไรจึงจะตามหลักวิชาการ(อุเทน ปัญโญ 2545) การเขียนที่มาของกลุ่มตัวอย่างไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง
จะทำให้ผลการวิจัยขาดน้ำหนักของความน่าเชื่อถือ เพราะกลุ่มตัวอย่างอาจไม่กระจายหรือไม่เป็นตัวแทนของประชากรก็ได้
และควรนำเสนอภาพที่ชัดเจนในรูปตาราง จากประชากรสู่กลุ่มตัวอย่าง ด้วย
ในกรณีที่เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ
จะต้องบอกว่าใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก(Key informants) ใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูลรอง(Informants)
มีเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกโดยวิธีใดบ้างด้วย
๒.
เครื่องมือ ในการรวบรวมข้อมูล
เพื่อตอบวัตถุประสงค์แต่ละข้อ จะใช้เครื่องมืออะไร เช่น
๒.๑ จะใช้การสังเกต(Observation ซึ่งมีทั้งการสังเกตแบบมีส่วนร่วม:Participant
observation
และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม:Non-participant
observation) ผู้วิจัยจะต้องอธิบายให้ชัด
๒.๒ จะใช้แบบสอบถาม(Questionnaire) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อการสำรวจความคิดเห็นอย่าง
กว้างๆ
ที่มีปริมาณผู้กรอกแบบสอบถามมากตามหลักวิชาการ ควรศึกษาลักษณะของ
แบบสอบถามที่ดี หากพัฒนาแบบสอบถามเอง ผู้วิจัยต้องบอกขั้นตอน
วิธีการพัฒนา
แบบสอบถามอย่างละเอียดและหากจะยืมแบบสอบถามจากที่อื่นก็ต้องบอกเหตุผลด้วย
๒.๓ จะใช้การสัมภาษณ์(ซึ่งมีทั้งการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง:Structured
Interview และการ
สัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง:Non-structured
interview) ผู้วิจัยจะต้องอธิบายให้ชัด
๒.๔ จะใช้แบบทดสอบ(Test) การใช้แบบทดสอบ จะใช้เมื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความรู้
๒.๕ จะใช้การสนทนากลุ่ม(Focus group
discussion) ผู้วิจัยจะต้องอธิบายให้ชัดและถูกต้อง
เครื่องมือทุกชนิด
ผู้วิจัยจะต้องบอกว่าได้เครื่องมือเหล่านี้มาจากไหน จะสร้าง/พัฒนาเองหรือยืม
ของใครมา
หากจะสร้าง/พัฒนาเอง จะต้องบอกขั้นตอนในการสร้าง จากนั้นจะต้องบอกว่าจะหาค่าความเที่ยงตรง(Validity)และค่าความเชื่อมั่น(Reliability) อย่างไรบ้าง
๓.
ความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นของเครื่องมือ ไม่ว่าจะสร้างเองหรือจะยืมใครมา จะต้องมีการหาค่าความเที่ยงตรง(Validity) และค่าความเชื่อมั่น(Reliability) ของเครื่องมือ นักวิจัยหน้าใหม่จำนวนมากมักเกรงกลัวว่า
หากให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริง(อาจหาได้ยาก) ตรวจเครื่องมือให้จะมีปัญหา
ต้องแก้ไขหลายครั้งและ ยุ่งยาก จึงมักให้ใครๆ ก็ได้(ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องนั้นจริงและตรวจแบบขอผ่านไปที)
นั้น เป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดมากๆ เพราะนักวิจัยจะไม่ได้เรียนรู้อะไร และผลกระทบ(impact)
ที่เกิดจากการวิจัยก็ไร้คุณค่า เพราะแบบสอบถามขาดความเที่ยงตรง จึงควรหลีกเลี่ยงวิธีการแบบน้ำเน่าเสียที
๔.
วิธีการเก็บข้อมูล
การเขียนส่วนนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่า
ความน่าเชื่อถือของกลุ่มตัวอย่างและความน่าเชื่อถือของเครื่องมือ เนื่องจาก
หากผู้วิจัยเสนอรูปแบบ วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไม่น่าเชื่อถือหรือสับสน เช่น ในบทที่
๑ บอกว่าจะเก็บข้อมูลด้วยตนเอง แต่ในบทที่ ๓ ก็เขียนว่าเก็บข้อมูลโดยส่งทางไปรษณีย์หรือฝากนักเรียนไปให้ผู้ปกครอง
เป็นต้น คณะกรรมการจะเกิดความสับสนและไม่เชื่อถือในวิธีการและข้อมูลนั้นๆ
แม้ว่าเครื่องมือจะดีเพียงใดก็ตาม
ในกรณีที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูล
“เชิงคุณภาพ” ผู้วิจัยจะต้องมีความเข้าใจและตรวจสอบเทคนิคการใช้กระบวนการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง
อย่าเพียงไปอ่านงานสารนิพนธ์หรืองานวิจัยบางเล่มที่เขียนหรือใช้เทคนิควิธีอย่างผิดพลาดแล้วนำเทคนิควิธีการนั้นมาใช้
จะทำให้งานวิจัยของท่านถูกปฏิเสธให้ดำเนินการต่อ
๕.
การวิเคราะห์ข้อมูล
เครื่องมือแต่ละอย่างมีวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลต่างกัน จะต้องอธิบายว่า ในการตอบวัตถุประสงค์ข้อ
๑, ๒, หรือข้อ ๓ ท่านจะใช้เครื่องมืออะไร จะใช้วิธีการวิเคราะห์แบบใด อนึ่ง ขอแจ้งว่า
ไม่ควรใช้คำว่า “วิเคราะห์โดยใช้ Program SPSS”
หากท่านไม่ได้ซื้อ Program นั้น เพราะอาจจะถูกตรวจสอบและต้องเสียค่าปรับค่าลิขสิทธิ์ด้วยราคาแพงมาก
ไม่ควรใช้สถิติอย่างฟุ่มเฟือย(และไม่รู้จริง)
แต่ไม่ได้ให้คุณค่าและความรู้ที่แตกต่างไปจากการใช้สถิติพื้นฐาน เพราะท่านจะต้องตอบคำถามมากมายจากกรรมการผู้สอบ
๖.
การแปลค่าข้อมูล ในการแปลค่ามีความหมายจากข้อมูลที่จะได้รับหรือเก็บมาไม่ว่าจะเป็นปริมาณหรือเชิงคุณภาพก็ตาม
จะต้องมีการแปลค่าความหมาย โปรแกรมสำเร็จรูปไม่ได้ช่วยในการแปลค่าแต่อย่างใด ในงานวิจัย
ผู้วิจัยจึงจะต้องบอกให้ชัดว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไร ของใครในการแปลค่าข้อมูลนั้นๆ
และสุดท้ายของบทนี้อาจจะเสนอภาพของขั้นตอนของการศึกษาในรูป
flow-chart
ก็ได้
การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม
การเขียนในส่วนนี้จะต้องยึดหลักการเขียน(format) ของสถาบันการศึกษานั้น ๆ การเขียนอ้างอิงของ มมร. ในรุ่นที่ ๙ เป็นต้นมาจะแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ
กล่าวคือเปลี่ยนจากเขียนแบบ footnote เป็นอ้างอิงในเนื้อหาคือ
ผู้เขียน/ผู้แต่งที่เป็นคนไทยจะเขียน (ชื่อ นามสกุล พ.ศ....หน้า...หรือใส่เครื่องหมาย
: ….) ชาวต่างชาติ
(ชื่อสกุล ชื่อตัว ค.ศ...pp...หรือใส่เครื่องหมาย :
….) เช่น
พศิน
แตงจวง 2554:
45; Mounier, Alain, 2010: 45 เป็นต้น
สำหรับหลักการเขียนบรรณานุกรม ให้ดู
วิธีการเขียนในส่วนของบรรณานุกรมข้างล่าง
ข้อที่พึงตระหนักเพิ่มเติมในการเตรียมพัฒนาโครงร่างงานวิจัย
๑.
ในการเขียนวิธีการหรือกระบวนการวิจัยในโครงร่างจะใช้คำ
“จะ” เนื่องจากยังไม่ได้ทำ
๒.
พึงอ่านทบทวนงานวรรณกรรมและงานวิจัย(จากต้นฉบับ)ที่เกี่ยวข้องให้มากๆ
เพื่อนำเสนอความเป็นมาให้ชัดเจน และเป็นไฟฉายส่องทางในการออกแบบงานวิจัย การลอกเนื้อหาจากงานวิจัยเล่มอื่นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเตรียมงานวิจัยของท่านแต่อย่างใด
๓.
พึงแสวงหาเพิ่มเติมเนื้อหา ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้มากและอย่างกว้างขวางเพื่อทำให้บทที่
๑-๓ มีความสมบูรณ์
๔.
พึงอ่านสิ่งที่ตนเองเขียนและให้ผู้อื่นอ่านด้วย
ควรรับฟัง “คำวิพากษ์” มากกว่า “คำชม” จากนั้นพึงปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
๕.
พึงปรึกษาผู้รู้
ผู้เชี่ยวชาญแท้จริงในเรื่องที่ทำวิจัย
๖.
และสุดท้ายเมื่อมีความมั่นใจว่าจะออกแบบโครงร่างการวิจัยแล้ว
ควรตรวจสอบความสอดคล้อง ความต่อเนื่องเนื้อหาที่เขียน ตั้งแต่บทที่ ๑-๓
ความครบถ้วนและความถูกต้องในการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม
ไม่ควรทิ้งภาระทั้งหมดเหล่านี้ให้อาจารย์ที่ปรึกษา
กรรมการที่ปรึกษาและผู้ตรวจสอบสุดท้าย ผู้ตรวจ format ของมหาวิทยาลัยโดยเด็ดขาด
บรรณานุกรม
พศิน แตงจวง(2553) การพัฒนาบุคลากรสู่ภาคแรงงาน:
การศึกษาเปรียบเทียบไทยและ
เวียดนาม 1980-2025(ฉบับปรับปรุง) รายงานวิจัย อัดสำเนาเย็บเล่ม.
________ (2554) การพัฒนาสมรรถนะครูภายใต้บริบทของตนเอง(Reflexive
teacher): กรณี
ครูคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษา(ฉบับปรับปรุง) รายงานวิจัย
อัดสำเนาเย็บเล่ม.
อุเทน ปัญโญ(2545) “กระบวนการในการวิจัย” วารสารการวิจัยทางการศึกษา ปีที่ ๒ ฉบับที่
๑
Creswell, John W.(2009) Research
design: Qualitative, quantitative and mixed methods
approaches (3rd
Ed.)
Los Angeles: Sage.
Flick, Uwe (2006) An introduction
to qualitative research(3rd Ed.) Los Angeles: Sage.
Gall, Meredith D.; Gall, Joyce P. and
Borg, Walter R.(2007) Educational research: An
introduction(8th
Ed.)
Boston: Pearson.
Tuckman, Bruce W.(1978) Conducting
educational research. New York: Harcourt Brace
Jovanovich,
Inc.
Wilkinson, A.M.(1991) The
scientist’s handbook for writing papers and dissertations.
Englewood
Cliffs, NJ: Prentice Hall.
เอกสารที่ควรอ่านเพิ่มเติม(เกี่ยวกับการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย)
สุวิมล ว่องวาณิช(Online)
เทคนิคการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย สืบค้นได้จาก www.bcn.ac.th/web/.../เทคนิคการสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย.pdf
___________(Online) การสร้างกรอบแนวคิด สืบค้นได้จาก rlc.nrct.go.th/ewt_dl.php
No comments:
Post a Comment